วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

บทความ "ยาสีฟัน"

ฟันของคนเราจริงๆแล้วมีสีดำ คนสมัยก่อนจึงชอบกินหมาก นอกจากจะช่วยบำรุงรากฟันให้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยรักษาสีดำของฟันให้เป็นสีดำที่เนียนเงางามอีกด้วย ตากี้ แห่งหมู่บ้านคลองเกต เป็นชายตัวดำขี้โม้ ชอบกินขนมโก๋แล้วไม่บ้วนปาก ทุกมื้อเช้า กลางวัน เย็น ก่อนและหลังอาหาร ตากี้ต้องหยิบขนมโก๋ขึ้นมากิน เขาชอบรสชาติของการเลียเศษขนมโก๋ที่ติดอยู่ตามไรฟันเป็นที่สุด ตั้งแต่เด็กจนแก่ ตากี้ก็ยังกินขนมโก๋แล้วไม่บ้วนปากอยู่อย่างนั้น จนมีฟันเป็นสีขาว เป็นสีขาวตามขนมโก๋นั่นเอง ไม่มีใครคบตากี้เป็นเพื่อน เพราะตากี้มีฟันสีขาว โบราณว่าไว้ว่า “คนผมหยิก คอสั้น ฟันขาว” เป็นคนคบไม่ได้ ซึ่งตากี้มีครบทุกอย่างตามนั้น เขาจึงต้องหลบๆซ่อนๆตัวเองอยู่ในกระท่อมท้ายคลองเพียงลำพัง เขาเฝ้าฝึกปรือฝีมือการทำขนมโก๋ไว้กินเองจนชำนาญ วันเวลาผ่านเลยไป คนรุ่นใหม่ๆเกิดขึ้นมา มีเด็กอยู่กลุ่มหนึ่ง วิ่งเล่นไล่จับกันจนมาเจอตากี้ที่กระท่อม เห็นตากี้มีฟันขาวก็เลยสงสัย ตากี้อารมณ์ดีก็โม้ไปเรื่อยว่า พวกหัวสมัยใหม่ในเมืองกรุง ตอนนี้กำลังนิยมมีฟันสีขาวกันมากเด็ก ๆ อยากมีฟันสีขาวบ้าง ตากี้จึงแบ่งขนมโก๋ให้กิน เด็ก ๆ กินแล้วฟันไม่ขาว ตากี้บอกฟัน จะขาวได้ต้องกินขนมโก๋แบบไม่บ้วนปากนานเป็นสิบ ๆ ปี เด็กๆบ่นรอไม่ไหว ตากี้จึงผสมสูตรทำขนมโก๋ขึ้นมาใหม่ เป็นขนมโก๋แบบเหนียวๆ คราวนี้กินครั้งเดียว ฟันขาวติดทนนาน แม้จะบ้วนปากกี่ครั้งก็ยังขาวอยู่ เด็กๆชอบใจ เอาฟันขาวไปอวดพ่อแม่ตอนแรกก็โดนด่า แต่พอบอกว่าตอนนี้พวกหัวสมัยในเมืองเขานิยม พ่อแม่ก็เลยอยากทันสมัยกับเขาบ้าง จากหมู่บ้านเล็ก ขยายไปหมู่บ้านใหญ่ ขนมโก๋กินแล้วฟันขาวของตากี้โด่งดังไปจนถึงในเมือง ขนาดพวกหัวสมัยที่เคยโดนแอบอ้างชื่อ รู้ข่าวยังอยากลองเอง ตากี้ขายขนมโก๋ร่ำรวยจนคนเริ่มขอสูตรเอาไปดัดแปลง ทำให้มีขนมโก๋และอุปกรณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น จากที่เคยห่อกระดาษ ก็นำมาใส่กล่อง ใส่หลอดให้บีบง่ายขึ้น จากที่เคยใช้นิ้วก็เริ่มหัวมาใช้แปลงทาสีอันเล็กๆ เอามาทามาป้ายขนมโก๋ไปบนฟัน เหมือนการ”ยาเรือ” แม้ว่าภายหลังจะมีคนพยายามทำขนมโก๋เป็นสีต่างๆ แต่ขนมโก๋ยอดนิยมที่คนนำมายา หรือ ทาสีก็ยังคงเป็นสีขาว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น